สถานที่นั้นสำคัญไฉน
หากเราไม่ต้องการสร้างความสุขและสำเร็จแก่ชีวิตที่ยาวนาน
มั่นคง เราจะอยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องเลือกเฟ้นสถานที่ให้ดีนัก
แต่หากหวังความสุขและความก้าวหน้าแห่งชีวิต
การเลือกสรรชัยภูมิต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ ชัยภูมิที่ดี ย่อมทำให้สุขภาพกายดี
จิตใจเบิกบานมีพละกำลังอย่างประหลาด หากชัยภูมิเลวย่อม
ทำให้ สุขภาพอ่อนแอและจิตใจอ่อนโรย
ขาดพละกำลัง ทำธุรกิจไม่ก้าวหน้า ขาดความสุขในชีวิตและครอบครัว
พระพุทธองค์
ก่อนจะได้ตรัสรู้ แม้จะบำเพ็ญบารมีมายาวนานก็ยังต้องอาศัยชัยภูมิ
พระองค์ต้องออกจากพระราชวังไปบำเพ็ญสมาธิใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์
ประทับด้านทิศตะวันออก จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ทางธรรม
นั่นคือความสำคัญของชัยภูมิ
ภิกษุรูปหนึ่งชื่อ"เมฆิยะ"
ทำหน้าที่อุปัฏฐากพระพุทธองค์ที่ภูเขา "จาลิกา"
เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ขออนุญาตไปบำเพ็ญสมาธิริมแม่น้ำกิมิกาฬา
พระพุทธองค์ทรงทราบจึงห้ามไว้ถึง 2 ครั้ง
จึงคิดน้อยใจว่าพระพุทธองค์ไม่เข้าใจเจตนาดีของท่าน
คิดดังนั้น
เมฆิยะไม่ฟังเสียงพระพุทธองค์ บำเพ็ญสมาธิหามรุ่งหามค่ำ
แต่สิ่งไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ความคิดเรื่องเพศ ความโกรธ ความกลัว
ซึ่งปกติไม่เคยเกิดขึ้น กลับปะทุขึ้นมาในจิตใจอย่างรุนแรง
ท่านเกิดฉงนใจนึกถึงพระดำรัสของพระพุทธองค์ว่า
"คงเป็นเพราะสถานที่แห่งนี้กระมัง พระพุทธองค์จึงทรงห้ามไว้"
เมฆิยะทำสมาธิไม่ก้าวหน้า จิตใจไม่สงบแม้แต่วินาทีเดียว
เพราะท่านเคยเกิดเป็นพระราชาหลายชาติ สถานที่แห่งนี้เคยเป็นพระราชอุทยานเก่า
เป็นสถานที่ดูเหล่านางสนมถวายการฟ้อนรำ และสั่งลงโทษนักโทษ
พลังงานความรู้สึกเก่าๆที่ยังตกค้างอยู่ในสถานที่แห่งนั้นถาโถมเข้ามาสู่จิตใจ
จนเตลิดเปิดเปิงไม่เป็นอันสงบ
ชัยภูมิจึงมีผลยิ่งต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวในการทำสมาธิ
พระพุทธองค์เมื่อครั้งทรงมีพระชนมชีพอยู่
พระองค์ทรงเป็นอาจารย์ผู้รู้แจ้งชัยภูมิ ทรงทราบว่าสถานที่ไหนเหมาะกับคนประเภทใด
อยู่ในสถานที่นั้นแล้วจะมีความเจริญก้าวหน้าในการบำเพ็ญสมาธิ
หรือไม่
ปัจจุบันจะหาอาจารย์ที่มีคุณสมบัติเหมือนพระพุทธองค์ไม่มีอีกแล้ว
สถานที่ปฏิบัติสมาธิที่ดีควรมีลักษณะ
4 ประการดังนี้
1.เงียบสงัด ไม่มีเสียงรบกวน
2.รู้สึกเอิบอิ่มทันทีที่เข้าไปอยู่
3.จิตที่กำลังวุ่นวายก็พลันสงบลง
4.จิตที่สงบอยู่แล้วยิ่งสงบแน่วแน่ขึ้น
***เครดิตจาก หนังสือ
สมาธิ:กุญแจไขความสุข โดย ส.ชิโนรส เขียน***
สั่งซื้อ
สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ-กรุงเทพมหานคร หรือบริษัท อมรินทร์บุ๊ค เซ็นเตอร์จำกัด
http://www.amarinpocketbook.com/
|